วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประเพณีแซนโดนตา

สุรินทร์สานประเพณี"แซนโดนตา"



วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในอีกไม่กี่เดือน ที่จะถึงนี้เทศกาลอันเป็นงานบุญของชาวไทยเขมรที่ยิ่งใหญ่ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว
นั่นก็คือ เทศกาลงานบุญประเพณีแซนโดนตา หรือประเพณีเซ่นผีปู่ตาในเดือนสิบ
หรือถ้าเรี่ยกกันแบบเต็มๆตามชื่อเรี่ยกของชาวไทยเขมรว่า แซนโดนตาแคเบ็น
หมายถึง การเซ่นผีปู่ตาเดือนสิบหรืองานบุญสารทเดือนสิบนั่นเอง
ซึ่งชาวไทยเขมรทุกที่ทั่วระแหงไม่ว่าในไทยหรือฝั่งกัมพูชาจะต้องประกอบกิจประเพณี
พิธีกรรมงานบุญนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วเป็นประจำทุกปี
งานแซนโดนตานั้นเป็นกิจกรรมหลัก ในวันสารทเขมรโดยสารทเขมรแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ
เบ็นตู๊จ(สารทเล็ก)ในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะเป็นเพียงการการนำข้าวของไปทำบุญที่วัดไม่มีการ
เซ่นผีปู่ตาที่บ้าน หลังจากนั้นวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันเบ็นธม(สารทใหญ่)
อันเป็นวันที่ชาวบ้านต้องมีการแซนโดนตาโดยก่อนจะถึงวันนี้
ชาวบ้านจะมีการตระเตรียมข้าวของต่างๆมากมายที่จำเป็นต้องใช้ในการเซ่น
ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ข้าวต้มหมัดที่ห่อจากใบตองที่ชาวเขมรเรี่ยกว่า อันซอมเจ๊ก
 และที่ห่อจากใบมะพร้าวเรี่ยกว่า อันซอมโดง ไก่ย่าง ปลาย่าง หมูย่าง
เนื้อวัวย่าง ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง หมากพลู และของที่จำเป็นต่างๆอีกมากมาย
ซึ่งบรรยากาศในท้องตลาดสี่ถึงห้าวันก่อนวันแซนโดนตาไม่ว่าจะเป็นในตัวอำเภอ หรือจังหวัดที่มีชุมชนคนไทยเขมรอาศัยอยู่อย่างเช่น ที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด
ถ้าท่านผ่านไปในชุมชนหรืออำเภอ ในช่วงดังกล่าวจะมีความจอแจเออัด
เต็มไปด้วยกลุ่มคนเชื้อสายเขมรมาจับจ่ายข้าวของเตรียมงานกันอย่างหนาตา
โดยเฉพาะตลาดกล้วยที่มาจากแหล่งต่างๆ ต่างขนมาเป็นนับร้อยๆคันรถ
มาขายในที่ที่เป็นชุมชนชาวเขมรซึ่งกล้วยนับเป็นผลไม้มงคลที่จำเป็นที่สุด
ในการนำไปประกอบเครื่องเซ่นในพิธีดังกล่าว

วันแซนโดนตาจะเริ่มขึ้นในเช้าวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือแคเบ็น(เดือนกันยายน)
ซึ่งเช้าตรู่ของวันนี้ชาวบ้านจะต้องตื่นมาเตรียมทำอาหาร คาว หวาน
และข้าวของที่ได้จากการเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ มาจัดวางสำหรับลงในกระเชอที่เรี่ยกว่า กันจือเบ็น
(กระเชอเบ็น) โดยมีการจัดวางอย่างสวยงามไม่ว่าจะเป็น ข้าวต้มทั้งสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว
ปลา ไก่ เนื้อหมู วัว ย่าง ผลไม้ ผัก ขนมนมเนย อาหารแห้งต่างๆ ที่จำเป็น
ซึ่งครอบครัวทุกครอบครัวที่แยกตัวออกมาจากพ่อแม่มามีลูกมีหลานจะต้องเตรียม
 กันจือเบ็น(กระเชอเบ็น) พอตกถึงเวลาประมาณ 16 - 17 นาฬิกา
ลูกหลานหรือครอบครัวต้องนำ กันจือเบ็น(กระเชอเบ็น)ไปที่บ้านพ่อแม่ของตน
หรือที่บ้านบรรพบุรุษเรี่ยกว่า จูนกันจือเบ็น(ส่งกระเชอเบ็น) โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลานและ
บรรพบุรุษมากๆจะมีความสนุกสนานอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตากันได้พบปะพูดคุยกัน
พอตกเย็นเวลา 19 – 20 นาฬิกา จะมีพิธีแซนโดนตาเริ่มขึ้นโดยนำข้าวของที่ลูกหลานนำมา
มาเซ่นซึ่งจะมีคนเฒ่าคนแก่และลูกหลานในสายตระกูลและเพื่อนบ้านมาร่วมพิธี
ซึ่งแต่ละบ้านที่เป็นหัวหน้าหรือมีสายสัมพันธ์กันกลุ่มคนเฒ่าคนแก่จะเวียนพากันไปแซนโดนตา
จนครบบ้านแต่ละเครือญาติจนหมด พิธีแซนโดนตานี้จะกระทำกันบนบ้าน 
และต้องเรี่ยกชื่อญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วให้มารับเครื่องเซ่น
ให้ครบทุกคนถ้าไม่ครบอาจเกิดการไม่พอใจแก่ผีบรรพบุรุษจะทำให้ครอบครัวไม่สบาย
 ซึ่งระหว่างนี้ก็จะมีการละเล่นบรรเลงเพลงกันตรึม มโหรี กันอย่างสนุกสนานเครื้อนเครง

หลังจากนั้นเช้ามืดประมาณตีสี่ของวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 11 เจ้าบ้านต้องตื่นมาเซ่นอีกครั้ง
และเตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระทำบุญที่วัด
และนำข้าวของเหล่านี้ลงกระเชอเช่นเดียวกับกระเชอเบ็นเพื่อนำไปวัด
โดยที่กระเชอเบ็นนี้จะมีการใส่บายเบ็นหรือบายตะเบิ๊ดตะโบร(ข้าวปั้นเป็นก้อนเล็กๆ)
ประดับในกระเชอด้วย และมีการปักประดับด้วยรวงข้าวสารที่ทำขึ้น
จากนำก้านมะพร้าวมาทาด้วยข้าวต้มให้เหนียวแล้วทาบให้ข้าวสารติดนำไปประดับในกระเชอ
 และที่ก้นกระเชอนี้จะมีข้าวต้มและผลไม้ต่างนำมาตัดเป็นท่อนเป็นแว่นเพื่อไว้ไปเซ่นผีปูตาที่วัด
 พอถึงเวลาประมาณตีห้าชาวบ้านต้องยกกระเชอเหล่านี้ไปที่วัดซึ่งจะเป็นหน้าที่ของผู้ชายเพื่อไป
ประกอบพิธีที่เรียกว่าการแห่ บายตะเบิ๊ดตะโบร(ข้าวปั้นเป็นก้อนเล็กๆ)
ไปซึ่งพิธีนี้จะทำหลังพิธีสงฆ์ที่มีการอุทิศส่วนกุศลเสร็จสิ้นโดย
 พิธีที่เรียกว่าการแห่ บายตะเบิ๊ดตะโบร(ข้าวปั้นเป็นก้อนเล็กๆ)
นี้จะถูกนำไปโยนหรือวางรอบโบสถ์วิหารเจดีย์อัฐิผู้ตายส่วนข้าวต้มและผลไม้ที่ตัดเป็นท่อนๆ
ก็จะนำไปวางที่เดียวกัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีนี้ขากลับบ้านชาวบ้านจะต้องเหลือข้าวต้ม
และผลไม้ที่ตัดเป็นท่อนบางส่วนกลับไปไว้นำไปเซ่นที่นาด้วย
วงมโหรีมีการเริ่มบรรเลงเพลงรออยู่ที่วัดแล้วหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแห่ บายตะเบิ๊ดตะโบร
 จากนั้นแปดโมงเช้า ชาวบ้านผู้หญิงที่เตรียมอาหารคาวหวานจะนำอาหารไปถวายให้พระฉันอาหาร
เช้าที่วัด ถือเป็นการเสร็จสิ้น ประเพณีแซนโดนตา – งานบุญสารทเดือนสิบของชาวไทยเขมร

ปัจจุบันแม้ประเพณีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ก็ยังคงรูปแบบแบบแผนตามขนบธรรมเนียมของ

ชาวไทยเขมรไว้อย่างแนบแน่นไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทยบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ความเชื่อของท้องถิ่นที่เป็นรากเหง้าของสังคมผืนใหญ่ที่เรี่ยกว่าประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น